ขออนุญาต คุณปรัชญา เอามาลงซ้ำในกระทู้นี้ จะได้เห็นภาพธุรกิจชัดๆ
--------------------------------------------------------------------------------
ปีที่ 58 ฉบับที่ 17995 วันอาทิตย์ ที่ 29 เมษายน 2550
ฟังเสียงผู้บริหารเอ็มเฟคสะท้อนภาพ ความจริงหลังเฝ้าไข้ไอซีทีไทย [28 เม.ย. 50 - 11:37]
ตัวเลขทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไอทีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในภาพรวม อาจเป็นตัวเลขที่น่ายินดี เพราะมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากติดตามให้ลึกลงไปแล้วอาจต้องถามต่อว่า เม็ดเงินที่ได้ตกอยู่ภายในประเทศ หรือไหลไปยังมือต่างชาติ และสภาพการแข่งขันที่แท้จริงเป็นอย่างไร เหนือไปกว่านั้นการสนับสนุนจากทางภาครัฐในเชิงนโยบาย ที่จะช่วยให้บริษัทคนไทยลืมตาอ้าปาก และยืนหยัดต่อสู้กับเจ้าตลาดซอฟต์แวร์รายใหญ่ระดับโลกดำเนินไปในทิศทางใด รวมทั้งเห็นเป็นรูปธรรมแล้วหรือไม่
คำถามเหล่านี้ คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีไปกว่า ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการไอที อย่าง ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกรกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค บริษัทไอทีคนไทยที่ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาถึงปีที่ 10 และมีรายได้ปีละกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมที่จะเปิดเผยสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ เบื้องหลังวงการไอทีไทยเป็นอย่างไร และจะถึงมีโอกาสลืมตาอ้าปากด้วยตนเองหรือไม่ ขอเชิญติดตามได้ ณ บัดนี้
IT Exclusive: ที่มาที่ไปและภาพรวมของเอ็มเฟค
ศิริวัฒน์: ถ้าดูภาพรวมของเอ็มเฟคตอนนี้เป็นกลุ่มบริษัทที่มีขนาดของรายได้ยู่ที่ประมาณ 2.3 พันล้านโดยประมาณ มีพนักงาน 700 คน และติด 1 ใน 500 บริษัทในเอเชียแปซิฟิคที่เติบโตเร็ว และอยู่ในอันดับ 466 จากการจัดอันดับของ Deloitte Technology Fast ดูแล้วอนาคตก็ยังไปได้ดี
ลักษณะของบริษัททำบริการด้านไอทีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน แอพลิเคชันเทิร์นคีย์ เป็นบริษัทคนไทยที่พยายามดิ้นรนหาจุดที่ มีความสามารถในการแข่งขันกับคนอื่น จะเห็นได้ว่าเอ็มเอฟอีซีพยายามให้บริการหลากหลายแบบ End-to-End โดยพยายามหาสิ่งที่เด็กไทย คนไทย มีความสามารถที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้ ตั้งแต่การทำเครื่องเซิร์ฟเวอร์ สตอเรจต่างๆ จนกระทั่งถึงวางระบบเครือข่าย และแอพลิเคชัน รวมถึงแอพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ และเกมแอนิเมชัน
เราลงทุนหว่านไปทุกด้านเพื่อจะหาว่า จุดไหนที่เด็กไทยมีศักยภาพ คือ ส่วนมากเด็กที่ทำงานกับเอ็มเฟคจะเป็นเด็กจบใหม่ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26 ปี เพราะเราสามารถดึงทรัพยากรบุคคลกลุ่มนี้เข้ามาได้ ในขณะที่การดึงเด็กมีประสบการณ์มา 2-3 ปี แล้วเก่งจริงจะทำได้ยาก เนื่องจากร้อยละ 90 ของเด็กเก่ง จะไปอยู่บริษัทข้ามชาติหมดเลย เขาจะไม่อยู่บริษัทคนไทย เราดูว่าเราจะคัดเลือกคนอย่างไร แล้วก็ตัดสินใจเลือกเด็กที่จบใหม่ แล้วสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เขา
IT Exclusive: มาถึงวันนี้เอ็มเฟคดำเนินธุรกิจเป็นปีที่เท่าไร และจุดใดเป็นส่วนที่เด็กไทยหรือบุคลากรในบริษัทมีศักยภาพในการให้บริการด้านไอที และน่าจะเป็นบริการหลัก หลังจากหว่านมาได้ระยะหนึ่ง?
ศิริวัฒน์: ในส่วนของการบริการพื้นฐานด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ผมคิดว่าคนไทยให้บริการได้ แต่ถ้าดูในสัดส่วนรายได้แล้ว ยังเป็นบริการที่มีมูลค่าอยู่ในระดับล่างๆ ทำไปก็ไม่ค่อยมีกำไร เพราะเหมือนกับเป็นการส่งของ ติดตั้ง ดังนั้น เราจึงพยายามขยับมูลค่าการให้บริการเช่น พวกแอพลิเคชันจะมีกำไรมากขึ้น ส่วนบริการให้คำปรึกษาที่ต่างชาติทำจะเป็นกำไรสูงสุด พวกนั้นก็เป็นส่วนที่เราจะไต่ระดับมูลค่าขึ้นมา
คำถามที่ว่าส่วนไหนที่เด็กไทยทำได้นั้น เราเคยมีความคิดว่า เราน่าจะสร้างซอฟต์แวร์ หรือบริการในระดับโลกได้ หลังจากที่เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราก็เชื่อว่าเรามีเด็กเก่ง เรามีเงินทุน เราน่าจะทำได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะธุรกิจไอทีเมืองไทยตามวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมา ถูกควบคุมโดยเทคโนโลยี เวนเดอร์ หรือผู้ผลิตเทคโนโลยี ที่เป็นต่างชาติทั้งหมด เขาควบคุมได้ทั้งเทคโนโลยีและผลกำไรว่า บริษัทไทยควรจะได้เท่าใด โดยก็เป็นผลกำไรที่เป็นในลักษณะสาละวันเตี้ยลง ในขณะที่องค์ความรู้ต่างๆ ก็ไม่ได้ถ่ายทอดให้บริษัทไทย ส่วนไหนที่เป็น ครีม หรือมีกำไรดีเขาก็จะทำเอง แต่ส่วนไหนที่ไม่ค่อยมีอะไร เป็นลักษณะใช้แรงงานเขาก็จะถ่ายทอดให้คนไทยเป็นคนทำ
IT Exclusive: ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของอุตสาหกรรมในภาพรวมเลยหรือไม่
ศิริวัฒน์: ใช่ เป็นปัญหาในภาพรวม เพราะไม่มีใครรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมนี้ โดยความเป็นจริงคืออุตสาหกรรมไหนที่เข้มแข็งจะมีเป็นกลุ่ม เช่น 5-6 ตระกูล สามารถคุยรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่มี 3-4 ตระกูล หรือ อุตสาหกรรมน้ำตาล ที่มีกำลังพอจะบอกให้ทางภาครัฐช่วยสนับสนุนอย่างไร ดังนั้น ผ่านมาสักระยะหนึ่งเราจึงสามารถอยู่ในจุดที่ส่งออกได้ แต่ลักษณะของธุรกิจไอทีไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเบี้ยหัวแตกหมดเลย ใน 1,200 บริษัท ไม่มีบริษัทไหน หรือ ตระกูลไหนใหญ่ที่จะมารักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมได้ หรือมีเสียงพอที่จะขับเคลื่อนให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนได้
ถามว่า ทำไมประเทศอินเดียอุตสาหกรรมไอทีถึงโตเร็วนัก นั่นเป็นเพราะเขามี 5 ตระกูลใหญ่ กลุ่มธาธา กลุ่มซาเตียม กลุ่มวิโปร ฯลฯ คอยชี้นำกระทรวงไอซีทีของอินเดียได้ แต่ของประเทศไทยผู้ที่มาบริหารด้านไอซีทีก็ไม่มีความเข้าใจ และไม่มีแรงพอที่จะสร้าง แปลว่า ถ้าอุตสาหกรรมนี้เหมือนกับ 10-20 ปีที่ผ่านมา ไม่มีความได้เปรียบในระดับประเทศ ที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมด้านนี้เกิด เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่จากไม่มีอะไรแล้วโตขึ้นมา
สาเหตุที่ประเทศเหล่านี้เติบโตได้ ก็เพราะเขามีการสนับสนุนจากภาครัฐเข้ามา แล้วช่วยผลักดันอุตสาหกรรม แต่สำหรับไอซีทีเมืองไทย ผมมองว่ายังแย่ที่สุดในภูมิภาคในเชิงที่ว่า ไม่มีวิสัยทัศน์ เมื่อไม่มีวิสัยทัศน์ก็นำทางไม่ได้ และสิ่งที่ทำอยู่ เขาก็ไม่เห็นอนาคต ไม่เห็นว่าปัจจุบันมีปัญหาอะไรไม่รู้
IT Exclusive: ในส่วนนี้มองว่าเป็นปัญหาจากตัวบุคคลที่ขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับบริหารหรือเพราะอะไร?
ศิริวัฒน์: ใช่ ผมยกตัวอย่างว่า ถ้าหากว่าในอุตสาหกรรมมีสัก 5-6 ตระกูลที่ทำไอพี (IP: Intellectual Property) เมื่อทำไม่ถูกเขาก็จะรู้ แล้วหาทางวางตัวคนเก่งๆ เข้ามา จากนั้นก็จะวางทิศทางขับเคลื่อนออกมา การเติบโตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเอาท์ซอร์สหรือไอทีของอินเดีย ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นภาครัฐผสมกับเอกชน เช่นกลุ่มซาเตียมบอกว่าจะทำงานออกมาในระดับโลก ต้องลงทุนมาก รัฐก็จะบอกว่ามาตั้งสำนักงานหลักที่นี่ จะให้ที่ดินในราคาถูกหรือเกือบฟรีเลย รัฐก็จะช่วยสนับสนุน ทำให้ต้นทุนถูก เขาก็จะสร้างคนให้มีความสามารถในการแข่งขัน
แต่ของเราถามว่า สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า มีเงินงบประมาณปีละ 500 ล้านบาทมาช่วยอุตสาหกรรมไอซีทีไทยนั้น มีการวัดผลอย่างไร? ทำไมผ่านมาถึงปีที่ 5 แล้ว ทำไมไม่เห็นมีอะไรเลย เพราะถ้าวัดผลจริงโดยพื้นฐานเลยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนี้ยังไม่มีเลย คือ ธุรกิจนี้เติบโตอย่างไร กำไรอย่างไร มีซอฟต์แวร์อย่างไร ใน 1,200 บริษัท แต่ละปีสาละวันเตี้ยลงหรือเปล่า เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ดำเนินอุตสาหกรรมนี้มา 30 ปี ไม่มีบริษัทไหนโตเลย ถ้าแคระแกร็นหมดทั้งพันกว่าบริษัทนี้ก็แย่แล้ว
ประกอบกับนโยบายด้านไอซีทีที่ออกมาก็สวนทางกัน อาจจะเนื่องจากความไม่รู้ก็เป็นได้ เหมือนกับเรากำลังจะแข่งกับชาวบ้าน ทุกชาติเขาให้สิทธิคนของเขาก่อน อย่างมาเลเซียบอกว่าถ้าใครจะเข้ามารับทำโครงการในมาเลเซียจะต้องมีเทคโนโลยีมาให้กับบริษัทในประเทศของเขา เพราะฉะนั้น 50% ต้องมีบริษัทในประเทศร่วมกับบริษัทต่างชาติเข้ามา เพื่อให้ได้โครงการมาทำ อันจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่บริษัทในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเรื่องภาษี
ในประเทศไทยการสนับสนุนแบบนี้ไม่มี ซ้ำเวลาให้ ยังให้ความได้เปรียบแก่บริษัทต่างชาติ เช่น ได้บีโอไอไม่ต้องเสียภาษี แปลว่าการที่พวกบริษัทต่างชาติเข้ามา มีต้นทุนถูกกว่า มีของขายแพงกว่า กำไรดีกว่า บวกกับไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น เมื่อเขาเข้ามาเขาก็กวาด ครีม ของประเทศไป คนที่จบมาเก่งๆ ร้อยละ 90 อยู่บริษัทต่างชาติ จะเห็นว่า บริษัทของคนไทยก็จะได้คนในระดับรอง และธุรกิจนี้ไม่ได้ต้องการเงิน หรือเครื่องจักร แต่ต้องการคนอย่างเดียว ถ้าคนโง่กว่า ก็สู้ไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้คือภาพรวมที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมนี้
จากที่เอ็มเฟคเห็นปัญหาตามที่กล่าวมา ก็แปลว่าเราพึ่งภาครัฐไม่ได้ต่อให้เขาตั้งอะไรมาก็ไม่มีวิสัยทัศน์อยู่ดี เราจึงลองผิดลองถูกของเราเอง ความฝันว่าสักวันจะมีไอพี หรือ สิทธิบัตรของเราเอง มีซอฟต์แวร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของเราไปขายให้คนอื่น หลังจากเข้าตลาดมาถึงวันนี้ กับ 3 ปีในการลงทุนทำไอพี เริ่มรู้แล้วว่าไม่ใช่ คือ ไม่มีความสามารถ คุณทำอะไรตั้งแต่ศูนย์ คุณสู้เขาไม่ได้ เอาแค่มาเลเซีย สิงคโปร์ก็สู้เขาไม่ได้แล้ว ตอนนี้ก็มีเวียดนามที่แซงเราแน่นอน
เอ็มเฟคจึงเปลี่ยนมาสู่ความเป็นจริงว่า เลิกแล้วที่จะทำวิจัยและพัฒนาด้วยตนเอง สิ่งที่เราทำตอนนี้คือ เตรียมตัวเราให้พร้อม แล้วหาเทคโนโลยีเวนเดอร์ หรือเจ้าของเทคโนโลยีมีจะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับเขา แทนที่จะนับจากศูนย์ก็อาจจะกลายเป็นนับจาก 500 พูดง่ายๆ อีกอันก็คือ เทียบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเราเลิกคิดแล้วว่าประเทศไทยจะมีรถยี่ห้อของเราเองไปแข่งกับโตโยต้าหรืออะไร และเราจะเกาะกับโตโยต้า ทำอะไรบางส่วนกับเขา เพื่อให้เขาดึงเราออกไปสู่ตลาดโลก เช่นต้องให้คนไทยทำไฟท้าย แล้วรถโตโยต้าวิ่งที่ไหนก็จะมีไฟท้ายฝีมือคนไทยติดไปด้วย
IT Exclusive: คือเมื่อสภาพรวมรัฐยังสนับสนุนบริษัทต่างชาติ เราก็จำเป็นต้องไปรวมกับบริษัทข้ามชาติเหล่านี้
ศิริวัฒน์: ถูกต้อง เพื่อหาทางรอด พูดถึงสภาพของเอ็มเฟคแต่ละปีเราเติบโตดี ปีที่แล้วโต 40% ปีนี้เราตั้งเป้า 2.8 พันล้านบาท เราก็น่าจะไปถึง เราอยู่รอดด้วยตัวเองได้ แต่ว่าอุตสาหกรรมจะดี หรือไม่ดีต้องมาเป็นขบวน ไม่ใช่โผล่มาหน่อหรือสองหน่อเพื่อจะลุย ในขณะที่ส่วนอื่นแห้งตายหมด
IT Exclusive: ขณะนี้อุตสาหกรรมไอทีเข้าขั้นผู้ป่วยไอซียูแล้วหรือยัง?
ศิริวัฒน์: คือ ผมว่าธุรกิจนี้อีกไม่นานคงไม่ต่างกับงานทำความสะอาด ไม่ต้องสนใจอะไร หาคนเยอะๆ แล้วก็ใช้แรงงานอย่างเดียว เพราะถ้าบริษัทอื่นไม่มีการขยับตัวเองขึ้นมา ก็เหมือนกับธุรกิจใช้แรงงาน และเป็นแรงงานที่ยากด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่น่าจะสื่อออกไปก็คือ ทั้งหมดเหมือนกับผู้ใหญ่รังแกเด็ก อย่างซิป้าเพิ่งประกาศรายชื่อบอร์ด ชื่อซิป้าย่อมาจากซอฟต์แวร์ แต่ไม่มีคนซอฟต์แวร์เลย แปลว่าอีก 4 ปี เขาก็คงไม่รู้เรื่อง นโยบายที่ออกมาว่าจะทำเรื่องสมองกลฝังตัวหรืออะไร ก็เหมือนกับการเอาโครงการหนึ่งโครงการมาเป็นนโยบายของประเทศเรา เขาแยกวิสัยทัศน์ของประเทศกับงานหนึ่งงานไม่ออก ถ้าคนรู้ดูแล้วก็ต้องส่ายหน้า
อย่างรัฐมนตรีบอกว่าไม่อยากให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะถ้าเอาคนในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เข้ามาจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ในวงการนี้ถ้าเอาคนที่ไม่รู้เรื่องซอฟต์แวร์เข้ามามันเสียหายกว่าเยอะอยู่แล้ว อันนี้เป็นข้อผิดพลาดของประเทศไทย ถ้าทรุด ทรุดทีละหลายปี ทำไมเวียดนามรุ่งเอารุ่งเอา เขาแค่ตั้งเรดาร์ให้ถูก ผ่านไป 3 ปี บริษัทไอทีเล็กๆ ของไอทีก็เติบโต สักพักหนึ่งเขาก็จะปีกกล้าขาแข็ง
ซิป้ามีเงินปีละ 500 ล้านบาท แต่ไม่สามารถทำให้บริษัทซอฟต์แวร์มีผลประกอบการหรืออะไรดีขึ้น แสดงว่าสิ่งที่คุณทำนั้นไม่เกี่ยวอะไรเลย ถ้าบริษัทหน้ามืดเดินตามก็ตายไปแล้ว เมื่อ 4 ปีที่แล้วเป็นคณะกรรมการบริหารของซิป้าเป็นคนที่มาจากด้านแอนิเมชัน 4 ปีนี้ก็มาเป็นสมองกลฝังตัว พวกนี้ควรจะเป็นโครงการไม่ใช่วิสัยทัศน์ หรือถ้าจะทำแอนิเมชันเป็นวิสัยทัศน์ก็ต้องตอบได้ว่าทำอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร รู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จะไปถึงได้อย่างไร จะบอกแค่อยากทำไม่ได้ มาสู่ใจความสำคัญก็คือ เป็นเพราะเอาคนทำไม่เป็นไม่รู้มาวางนโยบาย
หน่วยงานที่ทำงานส่งเสริมไอซีทีของไทย เมื่อเทียบกับหน่วยงานในระดับเดียวกันของเพื่อนบ้านแล้ว เราแย่ที่สุด เพราะข้อมูลพื้นฐานยังไม่มีเลย เพราะเมื่อไปต่างประเทศ เราต้องรู้ว่าประเทศเรามีความสามารถตรงนี้ แล้วเราจะไปตรงไหน ปีหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อไม่มีส่วนนี้ก็เป็นการทำงานโดยวัดผลไม่ได้ ผ่านไป 4 ปีคณะกรรมการชุดนี้หมดไปก็จะไม่มีอะไร ต้องบอร์ดใหม่ขึ้นมา มีรัฐมนตรีใหม่ก็จะมีความฝันใหม่ๆ เกิดขึ้น แล้วก็ไม่มีวิถีทางที่จะสร้างให้ประสบความสำเร็จอีก
IT Exclusive: เมื่อมองว่าภาครัฐยังหลงทางอยู่และไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน เอ็มเฟคมองว่าควรกลับไปเริ่มต้นที่จุดใด?
ศิริวัฒน์: นอกจากภาครัฐจะไม่มีทิศทางแล้ว ผู้ใช้อย่างหน่วยงานราชการที่ใช้ไอทีก็ยังหลงทางด้วย ไม่มีใครที่จะสนับสนุนบริษัทคนไทย ล็อกสเปกเอาแต่ของฝรั่ง บริษัทคนไทยก็ไม่เกิดเสียที สักพักบริษัทที่คิดเขียนไอพีที่มีราคาสูงจะไม่รอด ที่รอดคือพวกซื้อมาขายไป เป็นปรากฏการณ์โดมิโนที่เริ่มจากส่วนหัวที่ผิดพลาด ผู้ใช้ก็ผิดพลาด
IT Exclusive: แล้วในส่วนของเอ็มเฟคเติบโตมากถึง 40% ได้อย่างไร ยึดหลักการอะไรในการดำเนินธุรกิจ?
ศิริวัฒน์: ในธุรกิจนี้ไม่มีอะไรยาก ถ้าอะไรที่เราสู้เขาไม่ได้ก็เลิกสู้ อะไรที่เป็นศัตรูไม่ได้ก็ไปเป็นพันธมิตร เอ็มเฟคโตได้เพราะอ่านสถานการณ์เก่งว่า เราควรจะเป็นพันธมิตรของใคร และรู้ว่าใครจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา 10 ปีที่แล้ว มองว่าซิสโก้จะต้องใหญ่แน่นอน เราก็จับมือกับซิสโก้ ปัจจุบันมองว่าซอฟต์แวร์ดังๆ ต่อไปจะเป็นออราเคิล เราก็เป็นพันธมิตรกับออราเคิล เพราะออราเคิลซื้อบริษัทต่างๆ ไปหมดแล้ว และเขามีวิสัยทัศน์ที่ดี ขอให้คุณมีความรู้ในอุตสาหกรรมนี้ คุณอยู่รอดได้อยู่แล้ว จะคิดให้ภาครัฐช่วยคงไม่ได้ ต้องพึ่งลำแข้งของตัวเอง
ตอนนี้รัฐมนตรีหรือผู้บริหารยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไม่เชี่ยวชาญด้านนี้ ถ้าไม่เป็น เมื่อมีเงินตั้งเยอะก็ไปจ้างคนที่เป็นมาจากประเทศไหนก็ได้เพื่อมาวางนโยบายให้ได้ ไม่ต้องสร้างสรรค์หรืออะไรมาก คัดลอกเขามาก็ได้ หลายประเทศก็ใช้วิธีนี้ แต่ของคนไทย เป็นก็ไม่เป็น จะลอกคนอื่นก็ไม่เอา จะกลายเป็นเสียฟอร์มไป จะเอาคนที่รู้เรื่องมาทำก็ไม่เอาอีก เพราะกลัวว่าจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน สรุปว่าเอาคนไม่เป็นมาทำดีกว่า และมีความเชื่อว่าสักวันคนเหล่านี้จะเป็น และจะกำหนดวิสัยทัศน์ของชาติได้
IT Exclusive: ในภาพของการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ มาถึงวันนี้บริษัทไทยไม่มีหนทางที่จะสู้แล้วหรือ นอกจากจะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตร?
ศิริวัฒน์: คืออย่างนี้ เราถูกควบคุมโดยบริษัทต่างชาติ ถ้าเขาบอกว่า เขาไม่ให้บริษัทไทยขาย บริษัทไทยก็จะไม่มีอะไรทำมาหากินเลยนะ แล้วปกติชาติอื่นที่เขาทำ เขาจะใช้วิธีว่า คุณขายในประเทศเรา แต่คุณต้องนำพันธมิตรไปขายประเทศอื่นด้วย เขาต่อรองกันอย่างนี้ เขาชัดเจนว่าเขาไม่แข่ง แต่จะสร้างบริการแล้วโตไปด้วยกัน
IT Exclusive: มีทางไหนที่บริษัทไอทีไทยจะหลุดพ้นจากการควบคุมของต่างชาติ?
ศิริวัฒน์: มีวิธีเดียว คือ จะต้องมีรัฐมนตรี หรือมีคนกำหนดนโยบายที่ฉลาด เพราะทุกคนที่เข้ามาในประเทศนี้ต้องการกอบโกย ขายของให้กับเรา เรามีกำลังซื้ออยู่แล้ว อย่างเวียดนามต้อนรับไมโครซอฟท์ เขาก็บอกว่าไมโครซอฟท์ต้องสนับสนุนประเทศนี้นะ ประเทศนี้จะซื้อของไมโครซอฟท์เยอะ ช่วยสนับสนุนส่วนนั้นส่วนนี้หน่อย สร้างไมโครซอฟท์แคมปัส อะไรอย่างนี้ โดยการมีผู้บริหารในระดับนโยบายที่เข้าใจ เป็นวิธีเดียวที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ไม่มีวิธีอื่น เอกชนไม่สามารถทำเองได้ เพราะเอกชนที่มีอยู่เล็กทั้งหมด และถูกควบคุมอยู่ ถ้าหากไปงัดข้อ ไปโวยวาย บริษัทต่างชาติบอกไม่ให้ขายก็จบกัน
IT Exclusive: ถ้าเช่นนั้น มองช่องทางการเติบโตของไอทีไทยว่าควรมีการปรับตัวมากน้อยอย่างไร?
ศิริวัฒน์: ต้องปรับตัวเยอะ พวกที่บริษัทมีซูเปอร์แมนคนสองคน แล้วคิดจะเขียนซอฟต์แวร์ ผมทำนายได้เลยว่าอย่างไรก็ไม่รอด ขณะนี้บริษัทเล็กๆ ต้องโฟกัสเน้นลงเลยว่าจะทำด้านไหน แล้วรวมกับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อให้มีทุกอย่างที่สมบูรณ์ ทั้งแบรนด์ การตลาด นโยบายอะไรต่างๆ
สำหรับการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีของไทยในภาพรวมนั้น มองว่าตัวเลขโต อย่างเวลาอ่านหนังสือพิมพ์จะเข้าใจผิด เพราะตัวเลขโต ที่โตคือการบริโภคสูง แต่ผลกำไรทุกเม็ดทุกหน่วยขาดดุล 100% ออกนอกทั้งหมด ไม่ใช่บริษัทของคนไทยที่โต เพราะฉะนั้นที่บอกว่าโต ก็คือหลอกตัวเอง เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ในไทยไปรวยแถวอเมริกา ไทยก็ใช้แรงงานไป แต่ถ้าถามว่าเมื่อไรคนไทยจะรวยนั้น เราต้องมีผู้นำที่ดีก่อน
IT Exclusive: ฝากถึงภาครัฐและเอกชนว่าควรจะเริ่มที่จุดไหน จึงจะทำให้อุตสาหกรรมไอทีไทยมีความเข้มแข็ง
ศิริวัฒน์: จะต้องมองเห็นในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าต่างคนต่างไป มันไม่มีทางเจริญอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอันดับแรก ภาครัฐจะต้องมองหาคนที่มีความเข้าใจจริงๆ และเป็นจริงๆ เพราะอยู่ๆ บอกว่าจะทำหน้าที่เป็นหมอ แต่ไม่รู้อาการคนไข้เลย จะรักษาได้อย่างไร วิธีเดียวจึงอยู่ที่ภาครัฐและเอกชนต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรประเทศไทยก็เป็นประเทศผู้บริโภคอยู่แล้ว และในภูมิภาคนี้ประเทศเราแย่ที่สุด ของคนอื่นบริโภคแล้วยังได้ผลประโยชน์ ยังมีรายได้ไอทีเข้าประเทศ
การเปลี่ยนตัวผู้นำบ่อยไม่เป็นไร แต่ขอให้มีทิศทางที่ชัดเจน และขอบอกว่าคนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ ไม่รู้ไม่ผิด แต่เมื่อไม่รู้ก็ให้จ้างคนที่รู้ขึ้นมาช่วยกำหนดนโยบาย ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไอทีไทยอยู่ในสภาพเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ช่วยตัวเองยังไม่ได้ ต้องคอยให้คนช่วยป้อนข้าวป้อนน้ำ อีกทั้งอนาคตของแต่ละฝ่ายก็ยังตัวใครตัวมัน และเมื่อการทำเอฟทีเอเข้าในไทย การแข่งขันของธุรกิจภายในประเทศก็จะสูงขึ้น และเมื่อทุกคนเก่งกว่าเรากันหมด ถ้าวันนี้เรายังไม่รู้ตัวว่าเราเป็นง่อย ก็คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว...
http://www.thairath.co.th/news.php?sect ... tent=45206